ผู้เข้าชม

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555



สิทธิมนุษยชน...กับบางเรื่องเล็กๆที่ไม่เล็กในสังคม


สิทธิมนุษยชน...กับสังคมไทย

      หากมองดูในสังคมปัจจุบันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยนั้นมีอยู่อย่างไม่ต้องโต้แย้ง อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆหรือเรื่องที่ใหญ่นั้นค่อยว่ากัน แต่หากเพียงว่าปัจจุบันการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นลุกลามไปทั่วทุกหัวระแหง แอบซ้อนอยู่ในบางจุดของสังคมที่อาจจะเป็นจุดเล็กๆที่เราบางทีก็ไม่รู้ตัวว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือว่าเราไปละเมิดสิทธิมนุษยชนใครเขา อย่างในปัจจุบันการที่มี    คลิปหลุดออกมาไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาหรือคนมีชื่อเสียงอย่างเช่นดาราออกมานั้น สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันไม่ว่าใครๆก็ถูกละเมิดได้ อย่างกรณีคลิปหลุดของดารา ที่บางกรณีไม่ได้ตั้งใจให้คลิปหลุดหรือบางกรณีก็ตั้งใจเพื่อปลุกกระแส หากถ้าคลิปนั้นมีต้นตอที่คนที่อยู่ในคลิปไม่ต้องการเผยแพร่แล้วมีคนอื่นที่มาเผยแพร่นั้นก็อาจจะเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ หหรืออย่างกรณีที่ทำมือถือหาย หรือเอามือถือไปซ่อม คอมพิวเตอร์ไปซ่อม แล้วคนอื่นนั้นเห็นคลิปที่เรามีอาจจะเอาไปเผบแพร่ได้ครับ (ขอเตือน : หากเราคิดว่าเราลบสิ่งที่เราบันทึกไว้เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของเราที่ถ่ายไว้ แล้วมันจะหายไปแน่นอน...คุณคิดผิดครับ เพราะว่ามันสามารถกู้คืนได้ เห็นมานักต่อนักแล้วครับว่าคนที่คิดเช่นนี้สุดท้ายคลิปก็ออกมาสู่ตลาด ออกมาสู่ในโลกอินเตอร์เน็ต...จากนั้นคนอื่นๆก็หวาน มีคลิปมาอีกแล้ววววววว) นั่นแน่ๆๆๆๆๆๆๆผู้คนที่เข้ามาดูนี่แหละครับเป็นส่วนที่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน เพราะสิ่งที่เราดูนั้นเป็นสิ่งที่เค้าไม่ต้องการเผยแพร่แต่อย่างใด ลองคิดดูนะครับว่าต่อไปคุณๆทั้งหลายจะดูคลิปไหม?
         หมดจากเรื่องคลิปเรามาดูสิ่งที่ใกล้ๆตัวอีกนิด ในเรื่อง "หากเราเห็นสาวๆนุ่งสั้นๆ" ไม่ว่าจะชุดอะไร ในเครื่องแบบทั้งเครื่องแบบนักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือแม้แต่คนทำงานหรือคนใส่ชุดธรรมา แต่ไม่ธรรมดา ตรงที่ว่ามันสั้นและฟิตเต็มที่ แล้วเราจะมองไหม? แน่นอนหากถามชายหนุ่มทั้งหลายก็ชอบทั้งนั้นนั่นแหละ คริคริ. แต่นั้นแหละครับเราอาจจะไปละเมิดสิทธิมนุษยชนเขาก็ได้ แล้วคุณว่าแบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนไหม?  หากมองในมุมที่ไม่เป็นการละเมิดแล้วล่ะก็ เราก็อาจจะอธิบายได้ว่าก็สาวๆเหล่านั้นใส่เองนี่ เราไม่ได้ไปบังคับเขาให้ใส่เลยนี่(อันนี้ก็ถูกครับ) ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่แต่ละคนมองแต่ละคนคิดแล้วละครับ เราอาจะว่าเป็นการละเมิดแต่อีกคนก็อาจจะว่าไม่ละเมิด เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เราคิดว่ามันเล็กน้อยคนก็เลยไม่สนใจเท่าไหร่ก้แค่การแต่งตัวง แต่แท้ที่จริงแล้วเรื่องเล็กๆเรื่องนี้อาจจะเป็นการก่อให้เกิดปัญหาที่ใหญ่ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการลวนลาม หรือการข่มขืนได้ และบางที่ก็อาจจะร้ายแรงกว่านั้นก็เป็นได้
          หากเราลองคิดว่าเรื่องที่เราคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆและเราก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญ  ลองหันมาคิดว่าเรื่องเล็กๆนั้น(ก็ยังเป็นเรื่องเล็กๆอยู่เพราะว่าเราคิดอย่างนั้น) แต่เพียงให้ความสำคัญกันเรื่องเล็กๆเหล่านั้นเท่าๆกับเรื่องที่เราคิดว่าใหญ่ให้มากสักหน่อย เรื่องเล็กๆก็อาจจะไม่เป็นปัญหาก็ได้ เพราะเราและคนในสังคมให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กๆเหล่านี้

แม้เป็นเพียงจุดเล็กๆ ... ไม่มีคนใส่ใจ
แต่อาจเป็นสิ่งใหญ่ๆได้ ... ถ้าให้เราความสำคัญ
ปาหินอีก - ทะลุรถเก๋งโดน ดช.14 สาหัส
 
 
ปาหิน- นายหน่อย พรหมชนะ ชี้รอยที่ถูกแก๊งปาหินนครปฐมปาหินใส่ ระหว่างขับกลับบ้านในกทม. ทำให้ด.ช.วีระยุทธ พรหมชนะ อายุ 14 ปี ได้รับบาดเจ็บ แพทย์ต้องดูแลอาการอย่างใกล้ชิด อีก 2 คนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เมื่อวันที่ 27 พ.ย.
 
 
แก๊งปาหินอาละวาดอีก คราวนี้นี้เกิดที่นครปฐม เหยื่อขับเก๋งจากเมืองกรุงพาครอบ ครัวไปเที่ยวงาน 100 ปีพระราชวังสนามจันทร์ เพื่อดูลิเก "กุ้ง สุธิราช วงศ์เทวัญ" ระหว่างทางกลับ โจรชั่วปาก้อนหินเข้าใส่ เด็กชายอายุ 14 โดนเข้าไปเต็มหน้า อาการสาหัส ส่วนเด็กหญิงวัย 2 ขวบและมารดาโดนลูกหลงไปด้วย บิ๊กตร.ถึงกับเต้น สั่งท้องที่ล่ามือปาหินให้ได้ ลั่นต้องเป็นรายสุดท้าย

เมื่อเวลา 00.30 น. วันที่ 27 พ.ย. เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยุ 191 ภ.จว.นครปฐม รับแจ้งจากผู้เสียหายทาง 191 ว่าถูกวัยรุ่นปาหินใส่รถเก๋งที่นั่งมา มีผู้บาดเจ็บ และขอความช่วยเหลือ เหตุเกิดบนถนนบรมราชชนนี ขาเข้า ช่วงระหว่างหุ่นขี้ผึ้งไทยกับแบงก์ชาติ (ปิ่นเกล้า -นครชัยศรี) หลังรับแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์วิทยุฯ จึงประสานท้องที่ใกล้เคียงคือ สภ.นครชัยศรี และ สภ.พุทธมณฑล ให้ประสานรถกู้ชีพ ต่อมาร.พ.ศาลายา พร้อมแพทย์รถกู้ชีพได้ออกไปรอรับผู้บาดเจ็บที่หน้าม.มหิดล ศาลายา ไปปฐมพยาบาล

สำหรับจุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่สอบสวนของสภ. นครชัยศรี ต่อมา พ.ต.ท.ไพบูลย์ แพรสีนวล สารวัตรเวร สภ.นครชัยศรี พร้อมกำลังไปตรวจที่เกิดเหตุและสอบสวนผู้ประสบเหตุที่ร.พ.ศาลายา พบว่าเจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล กำลังช่วยชีวิตด.ช.วีระยุทธ พรหมชนะ หรือ "น้องเอ็ม" อายุ 14 ปี อยู่บ้านเลขที่ 31/64 ซ.จรัญวิลล่า 3 แขวงและเขตบางพลัด กทม. มีบาดแผลถูกของแข็งปาใส่เข้าที่ใบหน้า บริเวณหน้าผากซ้ายเป็นแผลเย็บ 3 เข็ม ริมฝีปากฉีกเย็บ 7 เข็ม เหงือกฉีก ฟันหัก 2 ซี่ หลังเย็บแผลแพทย์ให้นอนเพื่อรอดูอาการและรอผลเอกซเรย์กะโหลกศีรษะว่าแตกร้าวอันตรายหรือไม่ เบื้องต้นแพทย์ให้การช่วยเหลือน้องเอ็มจนอาการอยู่ในระดับปลอดภัย

ขณะเดียวกัน ยังมีผู้บาดเจ็บอีก 2 คนคือ ด.ญ. เปรมมิกา พรหมชนะ หรือ "น้องปิ่น" อายุ 2 ขวบ มีบาดแผลถลอกจากถูกเศษสะเก็ดของแข็งและเศษกระจกรถยนต์ที่แตกบาดตามศีรษะหลายแห่ง แต่ไม่มีแผลฉกรรจ์ และผู้บาดเจ็บอีกคนคือ น.ส.วันวิสา วรรณุรักษ์ อายุ 28 ปี มารดาของ "น้องปิ่น" มีบาด แผลถูกสะเก็ดกระจกรถและเศษหินคอนกรีตที่แตกปะทะเป็นรอยถลอกบริเวณคอซอกคอ ไม่สาหัส

น.ส.วันวิสาให้การว่า ตนพร้อมนายหน่อย พรหมชนะ อายุ 30 ปี สามีและลูกสาวคือ "น้องปิ่น" รวมทั้ง ด.ช.วีระยุทธ พรหมชนะ, นายภานุพงษ์ พิเคราะห์เดช อายุ 28 ปี ญาติของสามี และนายพีรพล ทองลี อายุ 16 ปี หลานชายสามี พากันมาเที่ยวงานพระปฐมเจดีย์ และเลยไปเที่ยวงาน 100 ปีพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม เพื่อดูลิเก "กุ้ง สุธิราช วงศ์เทวัญ" โดยตนเองพร้อมลูกสาว สามี และหลานสามี รวม 6 คน พากันนั่งมาในรถยนต์เก๋งมิตซูบิชิ สีน้ำตาล ทะเบียน ฐธ 5421 กทม. มีสามีเป็นคนขับกลับออกมาจากงานที่พระราชวังสนามจันทร์

น.ส.วันวิสา กล่าวต่อว่า ขณะที่นายหน่อยสามีขับรถ ตนนั่งคู่ด้านหน้า โดยมี "น้องปิ่น" บุตรสาวนอนหนุนตัก ส่วนที่เบาะหลังมีญาติกับหลานสามีนั่งอยู่ โดยนายภานุพงษ์นั่งด้านขวา นายพีรพลนั่งด้านซ้าย ส่วน ด.ช.วีระยุทธ หรือ "น้องเอ็ม" นั่งกลาง ระหว่างทางถึงประมาณหน้าหุ่นขี้ผึ้ง มีเสียงดังปังที่หน้ารถ พร้อมทั้งกระจกหน้ารถด้านมุมซ้ายล่างของกระจกหน้ารถเป็นรูโบ๋ พร้อมกันนั้นก็ได้ยินเสียงร้องโอดโอยของด.ช.วีระยุทธที่ด้านหลัง โดยเห็นเลือดไหลออกมาที่ใบหน้า รวมทั้งลูกสาวที่นอนหลับมา ก็ส่งเสียงร้องจ้าด้วยความเจ็บปวด จึงรู้ว่าถูกปาหิน ใส่รถ

น.ส.วันวิสาให้การต่อว่า เมื่อรู้ตัวว่าถูกปาหินใส่รถจึงบอกสามีอย่าจอดรถ ให้ขับไปเรื่อยๆ จากนั้นได้โทร.บอกให้ญาติที่ขับรถกระบะตามมาอีกคันทราบ แล้วโทร.แจ้ง 191 ขณะเดียวกันก็สังเกตเห็นรถจักรยานยนต์ 2 คัน มีวัยรุ่นซ้อนกันคันละ 2 คนขับตามมาติดๆ โดยสามีได้ขับรถไปจอดหน้าม.มหิดล ก็มีรถพยาบาลมารับไปที่ร.พ.ศาลายา เมื่อถึงที่ร.พ. ทางตำรวจมาตรวจในรถที่เบาะหลังก็พบก้อนหินตกอยู่บนเบาะแตกเป็น 2 ชิ้น มีเลือดสดๆ ติดอยู่ โดยมีขนาด 9 คูณ 12 ซ.ม. ซึ่งเป็นหินก้อนลักษณะเป็นหินปูนซีเมนต์ผสมทราย

ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้เสียหายพากลับไปชี้ดูจุดที่ถูกปาหินใส่ ขณะไปตรวจสอบยังมืดและผู้เสียหายจำจุดแน่นอนไม่ได้ แต่เจ้าหน้าที่สามารถได้เบาะแสจากพยาน เป็นเจ้าของเพิงขายผลไม้รายหนึ่ง กับเด็กชายวัยรุ่นคนหนึ่ง พอทราบว่า ก่อนมีเหตุปาหินใส่รถดังกล่าว มีวัยรุ่นชาย 4 คนขับรถจักรยานยนต์มาวนเวียนย้อนไปย้อนมาที่ริมทางหน้าเพิงขายของ และได้ยินเสียงวัยรุ่นคุยกันว่า จะเอาหินปาใส่รถที่ผ่านมา ขณะนั้นพยานนอนเฝ้าของอยู่ในเพิงที่ปิดแล้ว

ขณะที่นายหน่อย คนขับรถยืนยันว่า ระหว่างทางไม่มีเรื่องอะไรกับวัยรุ่นที่ใช้ถนนทางเดียวกัน และช่วงก่อนจะถูกปาหินใส่ ตนเองขับรถความเร็วประมาณ 80-90 ก.ม./ช.ม. และได้แซงรถบรรทุกมาได้ประมาณอึดใจ ช่วงนั้นถนนขาเข้าว่าง รถวิ่งทิ้งช่วงห่างกันมาก และมีเสียงดังปะทะที่กระจกจนแตก แล้วเห็นรถจักรยานยนต์ 2 คันขับตามมาติดๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังเกิดเหตุ พล.ต.ต.ยงยุทธ เตียวตระกูล, พล.ต.ต.สมบัติ ระวังสำโรง รองผบช.ภ.7, พ.ต.อ.วิเชียร ตันติวิริยะ รองผบก.ภ.จว. นครปฐม, พ.ต.อ.อนุรักษ์ นาคพนม ผกก.สภ.นคร ชัยศรี เดินทางไปดูจุดเกิดเหตุ จากนั้นไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่ร.พ.ศาลายา พบว่าด.ช.วีระยุทธนอนรักษาตัวให้แพทย์ดูอาการอยู่ที่ห้อง 1208 เตียง 3 ของร.พ.ศาลายา โดยมีนางแจ๋ว พรหมชนะ อายุ 45 ปี มารดา และญาติอีกหลายคนเฝ้าดูอาการอยู่อย่างใกล้ชิด

พล.ต.ต.ยงยุทธ เปิดเผยว่า ได้สั่งกำชับให้ช่วยกันหาตัวคนร้ายกลุ่มนี้มาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเหตุอุกอาจอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญประชาชน และขอให้ประชาชนพลเมืองดีช่วยแจ้งเบาะแสกลุ่มแก๊งวัยรุ่นที่คาดว่าอาจเป็นคนร้ายด้วย ขณะที่ พล.ต.ต.สมบัติกล่าวด้วยว่า ต้องให้เหตุการณ์ปาหินใส่รถเหยื่อครั้งนี้รายนี้เป็นรายสุดท้าย ทุกพื้นที่ต้องไม่ให้มีเหตุแบบนี้เกิดขึ้นได้อีกอย่างเด็ดขาด


ที่มาจากหนังสือพิมพ์ ข่าวสด

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

 ปัญหาคนไร้สัญชาติ ในประเทศไทย


        ประเด็นเรื่อง “ความไร้สัญชาติ” (Nationalityless) หากให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ สภาพที่บุคคลไม่มีสัญชาติของรัฐ หรือประเทศใดๆ เลยในโลกสังกัด (อ้างจาก www.archanwell.org) หรือ เป็นคนต่างด้าวของทุกประเทศในโลกใบนี้นั้นเอง พูดให้ง่ายๆ อีกทีก็คือ“ไม่มีรัฐสังกัด หรือเป็นคนไร้รัฐ (Stateless)” ซึ่งสำหรับมนุษย์บางกลุ่มพวก ที่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้กับรัฐ มีประวัติศาสตร์อันแสนเจ็บปวดจากการถูกรัฐควบคุม บงการ


มองด้านหนึ่ง ก็น่าจะปลาบปลื้มพอใจ ในสถานะของตน แต่กับกลุ่มสังคมที่ยังอ่อนแอ ยังขาดแคลนทรัพยากร ในการนำมาบริหาร จัดการหรือปกป้อง ดูแล เสริมสร้างกิจกรรมสาธารณะ เพื่อความมั่นคง สงบสุข ในขณะที่รัฐ องค์กรตัวแทนของสังคม ที่มีความชอบธรรม มีอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมาย นั้นสามารถเข้ามาทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขได้ดี
ปัญหาคือ รัฐไม่ใช่องค์กรที่ตกลงมาจากฟ้า และเป็นที่ชอบธรรม เป็นเอกฉันท์ ต่อประชาชน และฐานะของความเป็นรัฐไม่ได้กำเนิดขึ้นมาโดยสัญญาประชาคม ตามแนวคิดตะวันตกแต่กำเนิดขึ้นโดยกลุ่มอำนาจ กลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง อาจจะอ้างสิทธิการสืบทอดอำนาจตามจารีตประเพณี อาจจะเอาปืนใหญ่ เอากองทัพมาชี้ หรือเอาผู้คนหมู่มากมาอ้างเอาเป็นของในกลุ่มพวกตนเอง หรืออาจจะสมมติตนเองดื้อๆ ก็แล้วแต่จะสถาปนาขึ้น หรือ ฯลฯ แล้วก็อุปโลกเอาดินแดน ขีดเส้น แบ่งกันบนแผนที่ หรือ กำหนดเอาตามตำนาน เป็นต้น นี่คือกำเนิดของปัญหา

อีกหนึ่งปัญหา คือไม่ใช่แค่เพียง มาจากการกำเนิดของรัฐชาติ แต่ปัญหามาจากโครงสร้างทางกฎหมาย การบริหาร การดำเนินนโยบายและการใช้กลไกปกครองที่ไม่มีประสิทธิภาพ มาจากการพัฒนาที่เลือกปฏิบัติ มาแต่ต้น นอกจากนั้น ปัญหาเกี่ยวโยงทางประวัติศาสตร์ การศึกษา มาสู่วัฒนธรรม ที่มีคติ กดขี่ และผลักไสคนอื่น กลุ่มอื่น ให้หลุดพ้นไปจากสิทธิควรได้รับอีกด้วย
นักวิชาการด้านกฎหมายสัญชาติ จำแนกสาเหตุความไร้สัญชาติในประเทศไทยไว้ 2 ลักษณะคือ 1) ความไร้สัญชาติเพียงด้านข้อเท็จจริง (De facto Stateless) และ 2) ความไร้สัญชาติทั้งด้านข้อกฎหมาย (De Jure Stateless) และ ความไร้สัญชาติโดยข้อเท็จจริง (อ้างจาก www.archanwell.com)
ความไร้สัญชาติด้านข้อกฎหมายนั้น พอเข้าใจ หมายถึงความจำกัด ว่า “ไม่มีกฎหมายใดเลย กำหนดกระบวนการ หรือวิธีให้สัญชาติแก่บุคคล” แต่ ความไร้สัญชาติด้านข้อเท็จจริง ซึ่งมีสาเหตุ 2 รูปแบบ ที่เป็นข้อบกพร่องทั้งผู้ปกครอง คือ พ่อแม่และในระบบราชการไทยมากที่สุด และผลักให้เด็กไทยที่มีสิทธิอยู่แล้วตามกฎหมาย กลายเป็นคนชายขอบ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย ซึ่งหากสรุปว่ากลไกราชการนี้เองที่มีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิประชาชน และสิทธิมนุษยชน ก็ไม่น่าเกลียด
สาเหตุในที่นี้ คือ 1) ไร้สัญชาติเกิดจากความไม่รู้ ไม่สามารถพิสูจน์ตนเองว่า ตนเองกำเนิดและเกี่ยวพันกับรัฐได้อย่างไร ซึ่งมีอยู่หลายครอบครัว และ 2) รู้และบุคคลนั้นเชื่อ พร้อมทั้ง อ้างได้ว่า มีข้อเท็จจริงและพิสูจน์ตนเองได้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐไม่เชื่อ (โดยเฉพาะฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคง) เช่นล่าสุด กรณีชาวบ้านแม่อาย ที่ถูกนายอำเภอถอนสัญชาติ นับว่ารุนแรงที่สุด ละเมิดสิทธิประชาชนมากที่สุด ซึ่งกระทำการในนามของรัฐ
เกี่ยวกับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเด็กไร้สัญชาติ นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน ย้ำว่า “เด็กไร้สัญชาติส่วนใหญ่จะประสบปัญหาทางด้านการศึกษา ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การด้อยโอกาสทางสังคมมากที่สุด” ซึ่งหากต้องเสนอแนวทางแก้ไข ก็เสนอว่า
“ประเด็นที่ซึ่งต้องติดตามดำเนินการ คือ 1) การให้ได้ความคุ้มครองกับเด็กไม่มีสัญชาติ ทุกๆ คนตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 2) การสร้างให้เด็กมีสถานะที่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อไปสู่สิทธิในระดับต่างๆ ที่พึงจะได้รับ และ 3) เด็กทุกๆ คนจะมีสถานะที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นสัญชาติไหนก็ให้ชัดเจน เพื่อประโยชน์ในสิทธิของเด็ก” (อ้างจาก www.thaingo.org)
นางสาว มึดา นาวานารถ ประธานเครือข่ายเยาวชนชาวเขาสัมพันธ์ หนึ่งในเด็กไร้สัญชาติชาวกะเหรี่ยง อ.สบเมย แม่ฮ่องสอน ที่แม่และตัวเขาเองเกิด และเติบโตในเมืองไทยและกำลังจะเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยปีหน้า เล่าถึงนโยบายของรัฐและปัญหาสถานภาพของตนเองว่า “แม้ทุกวันนี้การวางนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้จะมีอยู่ แต่ว่าในทางปฏิบัติแล้วเกิดขึ้นน้อยมาก จนแทบไม่มีเลยก็ว่าได้ จะไปติดต่อ หน่วยงานราชการก็ไม่ได้รับความร่วมมือ ทางอำเภอไปสำรวจหมู่บ้านท่าเรือ ตั้งแต่ปี 2542
ซึ่งจริงๆ แล้ว หลังจากสำรวจเสร็จ ทางชุมชนต้องได้บัตรสีเขียวขอบแดง แต่จนถึงต้นปี2548 ก็ยังไม่ได้ พอหนูไปติดตาม ทางอำเภอก็บอกไม่รู้เรื่อง และพอได้บัตรสีเขียวขอบแดงมา ทางอำเภอกลับระบุว่า “เราเป็นเผ่าพม่า” อยากบอกว่า การไร้สัญชาติจะทำให้เราขาดไร้ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐาน และการมีส่วนร่วมกับรัฐ การรักษาพยาบาล และชีวิตถูกผลักให้เป็นคนชั้นสอง” (อ้างจาก www.thaingo.org)
บทสรุปปัจจุบันนี้ บทบาทของรัฐและกฎหมายการให้สัญชาติ กลายเป็นกระบวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนพอๆ กับคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพราะประชาชน คนไทยที่ซึ่งยังไม่ถูกรับรองสิทธิความเป็นพลเมืองนั้น ง่ายมากต่อการถูกกระทำ หรือละเว้นไม่กระทำการ อย่างใดหนึ่ง เพื่อให้เกิดการคุ้มครอง เนื่องจากโดยสถานภาพแล้วไม่สามารถอ้างสิทธิใดๆ ได้เลย ยิ่งกว่านั้นไม่ได้รับแม้กระทั่ง ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาตนเองพื้นฐาน อาทิ การศึกษา สาธารณสุข เป็นต้น
เมื่อย้อนมองลงไปถึงประวัติศาสตร์ความเกี่ยวพันกันทางชาติพันธุ์ในแถบถิ่นนี้นั้น มีร่องรอยมากมายที่ยืนยันได้ถึงสิทธิ พร้อมทั้งภาพของการกดขี่ กดทับและครอบงำจากลุ่มชนที่มีอำนาจ ไม่ใช่เพียงแค่รัฐไทยและกฎหมายไทยที่กระทำการละเมิด แต่หมายรวมถึง สังคม กลุ่มวัฒนธรรมบางกลุ่ม ที่ต้องการ หรือคอยกดทับให้ตนเองเหนือกว่าอีกด้วย ซึ่งสามารถพบเห็นได้ยินได้ทั่วไป กับชาวเขา กับคนลาว คนพม่า หรือเขมร
ในสถานการณ์ที่ต้องพัฒนาศักยภาพบุคคล เพื่อต่อสู้แข่งขันกันได้ในกระแสโลก รัฐควรให้สัญชาติกับคนกลุ่มชนชาติพันธุ์ โดยเฉพาะคนที่มีสิทธิได้รับอยู่แล้วเป็นอันดับต้นๆ คือ คนที่เกิดและอาศัยทำมาหากินบนผืนแผ่นดินไทยมานมนาน มีรากฐานเหง้าทางวัฒนธรรมเกี่ยวโยง ผูกร้อยอยู่ในท้องถิ่น เชื่อมถึงสัมพันธ์ร่วมอยู่กับทรัพยากรและกับคนกลุ่มอื่นๆ และมีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกลมกลืนกับวัฒนธรรมอื่นๆในสังคมไทยมานาน เช่น ชาวเขาทางภาคเหนือ ตั้งแต่ระนอง ประจวบฯ กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เป็นต้น
คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทย แต่ถูกละเลยการให้สัญชาติ ไม่ใช่คนไร้สัญชาติคือไร้รัฐสังกัด และอันดับต่อมา คือคนที่อพยพ หนีภัย หรือมาตั้งรกรากนานเป็นชั่วอายุคน คนเหล่านี้ก็สำคัญ ที่ต้องพิจารณาให้สิทธิ ให้สถานะ ให้สัญชาติ และรวมทั้งคนที่อพยพหนีภัย กลับคืนถิ่นไม่ได้และสมัครใจตั้งรกรากอยู่ถาวรก็ต้องเร่งพิจารณาให้สถานะเช่นกัน
ดังนั้น แนวทางแก้ไข และการลดอุปสรรค ตั้งแต่ระดับนโยบาย ให้ชัดเจน ทั้งฝ่ายบริหารและผู้รับผิดชอบโดยตรง ต้องติดตามปัญหา ความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง แปลงนโยบายมาสู่กลไกการปฏิบัติการ ปรับกฎหมายที่กำหนดกระบวนการดำเนินการให้สัญชาติ ให้สะดวกและชัดเจนยิ่งขึ้น จำแนกกลุ่มคนที่ได้รับฐานะสิทธิออกให้ชัดเจน มีคณะกรรมาธิการร่วมหลายฝ่าย ดูแล ประสานอย่างอิสระ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว โดยอาจจะรายงานตรงถึงนายกรัฐมนตรีก็ได้
โดยเฉพาะงานพิสูจน์ลักษณะ สายเลือดเพื่อให้สัญชาติ ซึ่งดำเนินการล่าช้า อาจจะมีการปรับรื้อระบบการทำงานใหม่ให้คล่องตัวมากขึ้น นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้มากขึ้น
ในระดับสังคม ศักดิ์ศรีของมนุษย์และความเท่าเทียมกันก็สำคัญ ซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อน สะสมมานานจนลงลึกเป็นรากฐานปัญหา ที่ยากจะแก้ไขได้ ในเวลาสั้นๆ คือปัญหาการกดทับทางวัฒนธรรมและการเหยียดหยามทางชาติพันธุ์ อันเนื่องมาจากการนำเสนอภาพลักษณ์ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ มาจนถึงตำรับตำราเรียน และสื่อสารมวลชนจำพวกภาพยนตร์และรายการทีวี
ดังนั้นกระบวนการผลิตสื่อ ผลิตงานวิชาการ ผลิตหลักสูตรการศึกษา สร้างสรรค์ความเข้าใจที่ดีต่อกัน ทั้งในระดับสังคม ทั้งระดับกลุ่ม ระดับชาติพันธุ์ ตลอดจนปัจเจกชนก็สำคัญเช่นกัน
เนื่องจากโลกของเราในปัจจุบัน เป็นโลกที่มนุษย์ด้วยกันพยายามเคลื่อนตัวไปสู่ ฐานะความเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน ทั้งโอกาส การพัฒนาศักยภาพ และการกำหนดวิถีชีวิตตนเอง ดังนั้น กำแพงกั้น กฎหมายที่กีดกัน กดทับ วัฒนธรรมอำนาจที่มีอคติต่อชนกลุ่มน้อย กลุ่มอื่นหรือคนกลุ่มชายขอบ กำลังเป็นวิธีคิด วิธีปฏิบัติต่อกันที่หล้าลัง และเป็นชนวนเหตุไปสู่ความรุนแรง
นอกจากนั้น ด้านหนึ่งของโลกกำลังแข่งขันกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และความมั่นคงของสังคม ซึ่งก็ส่งผลถึงความมั่นคงของรัฐ ด้วยเหตุนี้ การละเลยคนนับแสนนับล้านให้ไร้สัญชาติ ละเลยการให้ฐานะบุคคลให้ถูกต้องตามกฎหมาย ในระยะยาวรัฐเอง ที่ต้องสูญเสียทั้งโอกาส แรงงานภาคการผลิต และรายได้ภาษี นอกจากนั้นรวมถึงโอกาสการพัฒนาศักยภาพการผลิต และอาจจะส่งผลย้อนกลับมาสู่ปัญหาสังคม อาทิ การบุกรุกทำลายป่าไม้ อาชญากรรม ยาเสพติดและปัญหาสังคมอื่นๆ ด้วย

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เธอผู้ไม่แพ้ น้องเค้ก เหยื่อสาดน้ำกรด 
จากดาวมหาลัย จนกลายเป็นคนเสียโฉม

Mthainews: รายการวีไอพี ออกอากาศวันที่ 5 กันยายน นำเสนอเรื่องราวความแข็งแกร่งของ น้องเค้กอัญธิกา  ธรรมกิตติ นักศึกษาสาวดาวมหาวิทยาลัย ที่วันหนึ่งต้องมาเผชิญกับชะตากรรมที่เธอไม่คาดคิดมาก่อน เมื่อคนร้ายบุกถึงสถาบันสาดน้ำกรดจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ใบหน้าเสียโฉม เกือบทั้งหมด อีกทั้งตาซ้ายยังบอดสนิท สุขภาพของเธอต้องย่ำแย่ทั้งร่างกายและจิตใจ เนื่องจากสภาพใบหน้า ร่างกายไม่ได้สวยงามเหมือนเช่นอดีต
แต่เธอก็มีหัวใจเข้มแข็ง และกำลังใจที่ดีจากครอบครัว ทำให้เธอ ยืนหยัดจนถึงวันนี้
น้องเค้กเคยเป็นดาวมหาลัย ของมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันสามารถคว้าเกียรตินิยมอันดับสองมาได้
คุณกนกวรรณ แสงแก้ว คุณแม่น้องเค้กกล่าวว่า น้องเค้กเป็นคนน่ารักตั้งแต่เด็กๆ  ทำกิจจกรรมโรงเรียนแทบทุกอย่าง นอกจากนั้นเค้กยังขยันเริ่มหาเงินตั้งแต่ม.3 โดยไปเป็นเด็กเสริฟที่โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซต์ หลังจากเลิกเรียน มีรายได้วันละ 200 บาท สามารถจุนเจือครอบครัวได้ ไม่ต้องขอเงินพ่อแม่
และด้วยรูปร่าง หน้าตาที่สวยงาม ทำให้เธอก้าวเข้าเป็นนางแบบ ตั้งแต่ช่วงเข้ามหาวิทยาลัย ปี1 อาทิ นางแบบนิตยสาร จากนั้น รับเป็นพริตตี้ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ผิวพรรณทั่วไป นอกจากนั้นยังรับพิมพ์งาน งานโฟโต้ชอปไปด้วย รายได้ระหว่างเรียนได้ถึง 1หมื่น ถึง2 หมื่นบาท สามารถนำเงินไปจ่าายค่าเล่าเรียนได้โดยไม่ต้องขอเงินคุณแม่
ด้วยความที่เธอมุ่งมั่นทำงาน เธอเสิร์ชข้อมูลในอินเตอร์เน็ต จนพบกับชายคนหนึ่ง ที่กำลังหาคนปล่อยของไปขาย เช่นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โดยเธอไปทำความรู้จัก ติดต่อเรื่องงาน แต่ทำได้สักพัก การขายมีคู่แข่งขึ้น จนวันหนึ่งงานเงียบไป  แต่วันหนึ่งชายคนดังกล่าวโทรขอความช่วยเหลือให้ช่วย เนื่องจากถูกตั้งข้อหา คดีพยายามฆ่า จนคดีสิ้นสุด
แต่เรื่องระหว่างเขาและเธอไม่สิ้นสุด เมื่อชายคนนี้โทรจิก โดยอ้างว่าเรื่องคดียังไม่จบ หลังจากนั้นชายคนนี้ก็สารภาพรัก แต่เธอปฏิเสธไป ชายดังกล่าวจึงตั้งคำถามขึ้นว่า  “ในเมื่อไม่ชอบ จะไปช่วยทำไม” จนกระทั่งเรื่องราวบานปลายถึงขั้น ขู่ ดักทำร้าย ถ้าเขาไม่ได้ คนอื่นก็ไม่ได้ จนต้องแจ้งความกับตำรวจ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ สิ่งที่ได้กลับมาคือคำขู่ของชายคนเดิม ที่ล่าวว่า ถ้าผู้หญิงคนนี้เป็นอะไรขึ้นมา นั่นก็คือฝีมือตน


ด้วยความชะล่าใจ ในมหาวิทยาลัย สัปดาห์ที่สอง เธอถูกชายคนเดิมสาดน้ำกรดเข้าที่ใบหน้า ความรู้สึกทั้งร้อน แสบ มีควันขโมง พยายามเหลือบตาเห็นร้านซักรีด จึงรีบเอาฝักบัวราด เพื่อนของเธอจึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล
น้องเค้กต้องรักษาตัวด้วยการสครับเนื้อที่ตายออก เพื่อไม่ให้ติดเชื้อด้วยความทรมาน ความแสบ คัน ทำให้เธอร้องไห้ด้วยความทุกข์ ราวกับมดคันไฟทั้งรังรุมกัดตัว พญ.พงศ์รวี โอแสงธรรมนนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง โรงพยาบาลยันฮี แพทย์เจ้าของคนไข้ระบุว่า ส่วนของเนื้อตายต้องตัดทิ้ง ซึ่งแผลน้องลึกมาก ปัจจุบันยิงเลเซอร์ไป 27 ครั้ง ฉีดยา 15-16 ครั้ง ยังต้องรักษาต่อเนื่อง
น้องเค้กกล่าวว่า หลังจากที่ส่องกระจกเห็นใบหน้าตัวเอง เธอรับไม่ได้ พร้อมกับร้องไห้ ล็อคประตูขังตัวเองอยู่ในห้องน้ำโรงพยาบาล ครั้งนั้นเธอบอกว่า จะอยู่อย่างไรหน้าตาแบบนี้ ผี หรือคน แต่โชคดีที่มีคุณแม่คอยปลอบใจ อธิบาย และให้ความรักมาโดยตลอด


ลูกสวยที่สุดสำหรับแม่ คนเป็นแม่ยิ่งเห็นสภาพลูก ยิ่งเจ็บยิ่งกว่า แม่ไม่เคยร้องไห้ให้ลูกเห็น ” คุณแม่กล่าว
จนวัหนึ่งเธอเปลี่ยนความคิด ความรู้สึก เสียใหม่ด้วยความที่เห็นความลำบากของพ่อแม่ ที่เฝ้าดูแลเธอ จนหมดเงินไปมากพอสมควร โชคดีที่เธอเป็นคนไข้ในพระราชูปถัมภ์
ส่วนคนร้ายน้องเค้กพยายามคิดว่า ชาตินี้เป็นการชดใช้กรรมที่เคยทำมาชาติที่แล้ว อโหสิให้แก่กัน บวกทั้งไม่มีพยานหลักฐาน จึงไม่สามารถเอาผิดได้ คนร้ายอาจไม่ใช้เขา แต่อาจเป็นคนที่ถูกจ้างมา ขณะที่คุณแม่บอกว่า ในเมื่อลูกไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ ก็ไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะได้ แต่แน่นอนคุณแม่ยังทำใจไม่ได้จนถึงปัจจุบันในฐานะคนเป็นแม่
น้องเค้ก กล่าวว่า ปัจจุบันสุขภาพกายดีขึ้นแล้ว 50% แต่จะมีปัญหาเรื่องแผลเป็น และต้องรักษาดวงตาที่โรงพยาบาลศิริราช และการรักษาเรื่องการผ่าตัดศัลยกรรมที่โรงพยาบาลยันฮี ซึ่งการรักษาจะต่างจากคนทั่วไปเนื่องจากน้ำกรดทำลายผิวถึงชั้นที่สอง ทำให้เมื่อต้องโดนแดด หากไม่ป้องกันไม่ใส่หมวก หรือไม่ทาครีมกันแดด ผิวจะไหม้ ล่าสุดต้องผ่าตัดใบหู เนื่องจากโดนน้ำกรดกินไปจนไม่มีเนื้อเยื่อ เหลือแต่รูหู ต้องนำกระดูกอ่อนของหูข้างซ้ายมาทำเป็นโครง แล้วเอาผิวหนังใต้แขนมาทำเป็นเนื้อ
น้องเค้กวางอนาคตไว้ว่า จะเรียนต่อในระดับปริญญาโท เพื่อศึกษาในระดับที่สูงขึ้น และปัจจุบันถึงแม้ว่าจะเสียโฉม ไม่สามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิม แต่ยังมีชายหนุ่มที่เคยรู้จัก รับสภาพที่เธอเป็นได้  ไม่เคยทอดทิ้งเธอ แต่น้องเค้ก ยังไม่ตกลงปลงใจ
เธอได้ประสบการณ์เรื่องคน ว่า โลกไซเบอร์ เราจะไม่รู้นิสัยว่าเป็นอย่างไร ต้องระมัดระวังยิ่งกว่าคนที่เรารู้จักทั่วไป ส่วนใครที่ท้อแท้สิ้นหวัง น้องเค้กกล่าวว่า อย่ามัวนั่งเศร้า เสียใจ อย่าไปยึดติดกับมัน มองสิ่งที่เหลือว่าเราจะทำอะไรได้ต่อ ลุกแล้วเราจะมองเห็นสิ่งที่ดีๆเยอะแยะในโลกใบนี้ เพราะมียังมีหลายสิ่งมากมายให้เราเผชิญ
หัวใจอันแข็งแกร่งของหญิงสาว อย่างน้องเค้ก ที่ต่อสู้กับบาดแผลอันแสนสาหัสทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นเรื่องที่น่ายกย่อง สำหรับที่ใครท้อแท้สิ้นหวัง เผชิญหน้า ลุกและสู้กับมัน แล้วเราจะผ่านมันไปได้  อย่างที่น้องเค้กได้บอกเอาไว้

พ่อโหดทารุณลูก เด็กหญิง 7 ขวบ บาดแผลทั่วตัว


พ่อโหดทารุณลูก ด.ญ. วัย 7 ขวบ บาดแผลทั่วตัว (ไทยรัฐ)

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 19.20 น. วันนี้ (15 มิย.) พ.ต.ต.อัครพงษ์ สอนสุภาพ สารวัตร ป้องกันปราบปราม สภ.เมืองอุบลราชธานี รับแจ้งจากพลเมืองดีว่า พบเด็กอายุ 7 ปี ถูกทำร้ายมีบาดแผลร่องรอยถูกตีทั้งตัว เป็นไข้ นอนซมอยู่ข้างถนน บริเวณหน้าร้านขายอาหาร บ้านปากห้วยวังนอง ต.ปทุม เมืองอุบลราชธานี ก่อนนำตัวเด็กส่งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เกรงเด็กจะถูกบิดาตามมาทำร้ายอีก หลังรับแจ้ง พ.ต.ต.อัครพงษ์ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เดินทางไปดูอาการของเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกาย 

          ที่ตึกนารีเวช ชั้น 2 โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ พบเด็กหญิงแก้ว (นามสมมติ ) อายุ 7 ปี นอนซมอยู่บนเตียงคนไข้ ตามเนื้อตัวมีร่องรอยบาดแผล ทั้งแผลเก่าและแผลใหม่เกือบทั้งตัว บริเวณขาทั้งสองข้าง ก้น และ แผ่นหลัง พบเหยื่อยังนอนหลับไม่ได้สติ คาดว่าจะได้รับความอ่อนเพลียมาก ข้างเตียงมี มารดาเลี้ยง อายุ 23 ปี อุ้มลูกสาวบุญธรรมวัยขวบเศษนั่งเฝ้าอยู่ข้างเตียง  

          แม่เลี้ยงกล่าวว่า เด็กหญิงแก้วมักจะถูกบิดาแท้ๆ อายุ 35 ปี เทรนเนอร์ค่ายมวยแห่งหนึ่ง ทุบตีเป็นประจำ ส่วนมารดาของเด็กหญิงแก้ว ได้ทิ้งลูกไว้กับสามี หลังจากเลิกรากัน เด็กหญิงแก้วเป็นนักเรียนชั้น ป.2 โรงเรียนบ้านปากห้วยวังนอง หลังเลิกเรียน ผู้เป็นพ่อก็จะใช้ให้ไปถือตะกร้าขายปลาหมึกย่าง ให้กับผู้ที่ไปกินอาหารแถวปากห้วยวังนอง วันไหนขายได้น้อยก็จะถูกดุด่าทุบตี หาว่ามัวแต่ไปเล่น ไม่สนใจขายของ แม้แต่วันเสาร์อาทิตย์ ก็ไม่มีเวลาไปเที่ยวเล่นเหมือนเด็กคนอื่น วันนี้เด็กหญิงแก้ว ถูกพ่อแท้ๆ กระหน่ำตีไม่ยั้งมือ เพราะลืมเอาสมุดประจำตัวไปส่งครู หลังถูกตีก็ยังถูกบังคับให้ไปขายปลาหมึกย่าง ทั้งๆ ที่มีบาดแผลเต็มตัว ขณะที่เด็กหญิงแก้วถูกตี ตนไม่สามารถเข้าไปห้ามปรามได้ เพราะตนก็เคยถูกทำร้ายจนต้องหามส่งโรงพยาบาลมาแล้วเช่นกัน  

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่แม่เลี้ยงเล่าเรื่องดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฟังอยู่นั้น พ่อเด็กหญิงแก้วผู้เป็นสามีของเธอได้โทรศัพท์มาหา บอกให้พาเด็กหญิงแก้วกลับบ้าน ไม่ให้นอนโรงพยาบาล ถ้าไม่พากลับได้เจอดีแน่ ทำให้แม่เลี้ยงมีท่าทีหวาดกลัวจนเห็นได้ชัด และบอกว่าตนคงยังไม่กลับไป แต่เป็นห่วงลูกสาวอีกคนของตน ที่เกิดกับสามีคนนี้ จะถูกพ่อทุบตีเหมือน เด็กหญิงแก้ว สำหรับเด็กหญิงแก้วตนอยากให้แม่แท้ๆ หรือญาติทางฝ่ายมารดามารับไปเลี้ยงดู เพราะถึงแม้ตนจะเป็นแม่เลี้ยง ก็ยังอดเวทนาสงสารไม่ได้ แต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ ระหว่างนั้น  พยาบาลที่ทำหน้าที่ดูแลตึกดังกล่าว ได้มาเช็ดตัวให้เพื่อลดอาการไข้ บางคนควักเงิน 100 บาทใส่มือไว้ให้ ทั้งที่เด็กหญิงแก้วยังนอนหลับอยู่ พ.ต.ต.อัครพงษ์ กล่าวว่า คงต้องให้ร้อยเวรไปตามตัวพ่อจอมโหดมาสอบปากคำ หากมีมารดาหรือญาติของเด็กหญิงแก้วมาร้องทุกข์กล่าวโทษ


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เส้นทางชีวิตและการต่อสู้ ของ อองซานซูจี



อองซานซูจี


เส้นทางชีวิตและการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยขวากหนามของหญิงเหล็กนาม อองซานซูจี (มติชนออนไลน์)
          วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2488 ทารกหญิงนาม  อองซานซูจี ลืมตาขึ้นดูโลกเป็นครั้งแรก เธอคือบุตรสาวคนสุดท้องของนายพลอู ออง ซาน "วีรบุรุษอิสรภาพของประเทศพม่า" ผู้นำการต่อสู้กับญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร จนนำไปสู่การได้รับอิสรภาพเป็นรัฐเอกราชของสหภาพพม่าเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 และนางดอว์ขิ่นจี

          วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2490 นายพลอู ออง ซาน ถูกลอบสังหาร ก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราช ขณะที่ออง ซาน ซูจี มีอายุเพียง 2 ขวบ




นายพลอู ออง ซาน และนางดอว์ขิ่นจี บิดาและมารดาของ อองซานซูจี


          พ.ศ. 2503 ดอว์ขิ่นจี มารดาของ ออองซานซูจี ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งทูตพม่าประจำประเทศอินเดีย ซูจี จึงถูกส่งเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่ประเทศดังกล่าว

          พ.ศ. 2507 - 2510 อองซานซูจี เดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่เซนต์ฮิวจส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ในช่วงเวลานั้น เธอได้พบรักกับ "ไมเคิล อริส" นักศึกษาสาขาวิชาอารยธรรมทิเบต ภายหลังจบการศึกษา เธอเดินทางไปมหานครนิวยอร์ก เพื่อเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการประจำคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการตั้งคำถามเกี่ยวกับงบประมาณและการจัดการ ของสำนักงานเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เป็นเวลา 3 ปี โดยในช่วงเวลาดังกล่าว องค์การสหประชาชาติมีเลขาธิการเป็นชาวพม่าชื่อนายอูถั่น

          พ.ศ. 2515 อองซานซูจี แต่งงานกับ ไมเคิล อริส และย้ายไปอยู่กับสามีที่ราชอาณาจักรภูฏาน ซูจี ได้งานเป็นนักวิจัยในกระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลภูฏาน ขณะที่ไมเคิลมีตำแหน่งเป็นหัวหน้ากรมการแปล รวมทั้งทำหน้าที่ถวายการสอนแก่สมาชิกของราชวงศ์ภูฏาน


ไมเคิล อริส และ อองซานซูจี


          พ.ศ.  2516 - 2520 อองซานซูจี และสามีย้ายกลับมาพำนักที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อริสได้งานสอนวิชาหิมาลัยและทิเบตศึกษา ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ส่วน ซูจี ให้กำเนิดบุตรชายคนแรก "อเล็กซานเดอร์" ในปี พ.ศ. 2516 และบุตรชายคนเล็ก "คิม" ในปี พ.ศ. 2520 ในช่วงเวลานี้ ซูจี เริ่มทำงานเขียนและงานวิจัยเกี่ยวกับชีวประวัติของบิดาและยังช่วยงานวิจัยด้านหิมาลัยศึกษาของสามีด้วย

          พ.ศ. 2528 - 2529 อองซานซูจี ได้รับทุนวิจัยจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ให้ไปทำวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของนายพลอู ออง ซาน ที่ประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ไมเคิล อริสได้รับทุนให้ไปทำวิจัยที่ Indian Institute of Advanced Studies ที่เมืองซิมลา ทางภาคตะวันออกของอินเดีย ต่อมา ซูจี ได้รับทุนให้ไปทำวิจัยที่ Indian Institute of Advanced Studies เช่นกัน

          พ.ศ. 2530 อองซานซูจี และสามีพาครอบครัวย้ายกลับมาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เธอเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ London School of Oriental and African Studies ณ กรุงลอนดอน โดยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับวรรณคดีพม่า

          เดือนมีนาคม พ.ศ. 2531 อองซานซูจี ในวัย 43 ปี เดินทางกลับบ้านเกิดที่กรุงย่างกุ้ง เพื่อมาพยาบาล ดอว์ขิ่นจี มารดาที่กำลังป่วยหนัก ในขณะนั้นเป็นช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและมีความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศพม่า ประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาชุมนุมเคลื่อนไหวกดดันให้นายพลเนวินที่ยึดอำนาจการปกครองมายาวนานถึง 26 ปี ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (The Burma Socialist Programme Party-BSPP)

          วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 นายพลเนวินลาออกจากตำแหน่ง จนตามมาด้วยการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาและประชาชนหลายแสนคนในกรุงย่างกุ้ง เมืองหลวงของพม่า ก่อนที่การชุมนุมจะแพร่ลามไปทั่วประเทศ

          วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ผู้นำทหารได้สั่งการให้ใช้กำลังอาวุธสลายการชุมนุมของประชาชนนับล้านคนที่รวมตัวกันเรียกร้องประชาธิปไตยในกรุงย่างกุ้งและเมืองต่างๆ ทั่วประเทศพม่า ทำให้ผู้ร่วมชุมนุมหลายพันคนเสียชีวิต ทั่วโลกรู้จักเหตุการณ์ดังกล่าวในนาม "เหตุการณ์วันที่ 8 เดือน 8 ปี 88 (ค.ศ. 1988)"

          วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2531 อองซานซูจี เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งแรก โดยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป

          วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2531 อองซานซูจี ขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรกต่อหน้าฝูงชนประมาณ 500,000 คนที่มาชุมนุมกัน ณ มหาเจดีย์ชเวดากอง เธอเรียกร้องให้มีรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ผู้นำทหารกลับจัดตั้ง "สภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ" หรือ สลอร์ค (The State Law and Order Restoration Council : SLORC) ขึ้นแทน รวมทั้งได้ทำการปราบปรามสังหารและจับกุมผู้ต่อต้านอีกหลายร้อยคน

          วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2531 อองซานซูจี ได้ร่วมจัดตั้ง "พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย" หรือเอ็นแอลดี (National League for Democracy: NLD) ขึ้นมา และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค

          วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2531 มารดาของ อองซานซูจี คือ ดอว์ขิ่นจี เสียชีวิต

          วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 รัฐบาลทหารพม่าใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกสั่งกักบริเวณ ออง ซาน ซูจี ให้อยู่แต่ในบ้านพักเป็นครั้งแรก เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่มีข้อหา และได้จับกุมสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีจำนวนมากไปคุมขังไว้ที่เรือนจำอินเส่ง ซูจี อดอาหารเพื่อประท้วงและเรียกร้องให้นำเธอไปขังรวมกับสมาชิกพรรคคนอื่นๆ ต่อมาเธอยุติการอดอาหารประท้วงเมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารให้สัญญาว่าจะปฏิบัติต่อสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีซึ่งถูกคุมขังไว้ในเรือนจำเป็นอย่างดี

          วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 แม้ว่า อองซานซูจี ยังคงถูกกักบริเวณอยู่ แต่พรรคเอ็นแอลดีของเธอกลับได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไป รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าในนามของสลอร์คปฏิเสธที่จะถ่ายโอนอำนาจให้แก่ผู้ชนะการเลือกตั้ง ทว่าได้ยื่นข้อเสนอให้ ซูจี ยุติบทบาททางการเมืองด้วยการเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปใช้ชีวิตกับครอบครัวที่ประเทศอังกฤษ เธอปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว รัฐบาลทหารจึงมีคำสั่งยืดเวลาการกักบริเวณ อองซานซูจี จาก 3 ปี เป็น 5 ปี และเพิ่มเป็น 6 ปีในเวลาต่อมา

          วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2534 คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งประเทศนอร์เวย์ประกาศให้ อองซานซูจี เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่เธอไม่มีโอกาสเดินทางไปรับรางวัลด้วยตัวเอง ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน อเล็กซานเดอร์และคิมเดินทางไปรับรางวัลแทนมารดาที่กรุงออสโล อเล็กซานเดอร์กล่าวกับคณะกรรมการและผู้มาร่วมเป็นเกียรติในพิธีว่า "ผมรู้ว่าถ้าแม่มีอิสรภาพและอยู่ที่นี่ในวันนี้ แม่จะขอบคุณพวกคุณพร้อมกับขอร้องให้พวกคุณร่วมกันสวดมนต์ให้ทั้งผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่โยนอาวุธทิ้ง และหันมาร่วมกันสร้างชาติด้วยความเมตตากรุณาและจิตวิญญาณแห่งสันติ"

          วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 อองซานซูจี ได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณครั้งแรก แต่เธอไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างอิสระ เพราะถูกห้ามไม่ให้ปราศรัยต่อหน้าฝูงชน และเมื่อเธอพยายามเดินทางออกจากบ้านพักเพื่อไปพบปะฝูงชน เจ้าหน้าที่รัฐจะติดตามไปทุกแห่งหนพร้อมกับจัดตั้งฝูงชนอีกกลุ่มหนึ่งมาพยายามทำร้ายเธอและเพื่อนร่วมคณะ ซูจี จึงดำเนินการต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธี ผ่านการใช้วิธีเขียนจดหมาย เขียนหนังสือ บันทึกวิดีโอเทป เพื่อส่งผ่านข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทหารพม่าของเธอออกมาสู่ประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง

          เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2541 อองซานซูจี นั่งประท้วงอยู่ในรถยนต์ของเธอเป็นเวลาห้าวัน หลังจากถูกตำรวจสกัดขัดขวางไม่ให้รถยนต์คันดังกล่าวเดินทางออกจากกรุงย่างกุ้งเพื่อไปพบปะกับบรรดาสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี

          เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2541 อองซานซูจี ถูกสกัดกั้นไม่ให้เดินทางไปพบปะกับบรรดาสมาชิกพรรคของเธออีกครั้งหนึ่ง เธอใช้ความสงบเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเวลาหกวัน กระทั่งเสบียงอาหารที่เตรียมไปหมด จากนั้น ซูจี ถูกบังคับให้กลับไปยังบ้านพักในย่างกุ้ง


"The Raven Crown: The Origins of Buddhist Monarchy in Bhutan" ผลงานวิชาการชิ้นสำคัญของไมเคิล อริส เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2537 ขณะอาศัยอยู่กับออง ซาน ซูจี ภายในบ้านพักที่ถูกกักบริเวณ ณ กรุงย่างกุ้ง


          วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2542 ไมเคิล อริส เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่ประเทศอังกฤษ โดยก่อนหน้านั้นอริสพยายามขอวีซ่าเข้าประเทศพม่าเพื่อพบกับ อองซานซูจี เป็นครั้งสุดท้าย ในช่วงที่เขากำลังป่วยหนัก แต่รัฐบาลทหารไม่อนุมัติวีซ่าให้โดยอ้างว่าในประเทศพม่าไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยอย่างเขา ขณะเดียวกันรัฐบาลเผด็จการกลับพยายามผลักดัน อองซานซูจี ให้เดินทางออกนอกประเทศไปเยี่ยมเยียนผู้เป็นสามี แต่ ซูจี ซึ่งขณะนั้นกำลังพ้นโทษจากการถูกกักบริเวณ ไม่มีความประสงค์ที่จะเดินทางออกนอกประเทศ เพราะวิตกว่าเธอจะไม่ได้รับการอนุญาตให้เดินทางกลับมายังพม่าอีก

          วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2543 อองซานซูจี และสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีจะเดินทางไปดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่ถูกตำรวจสกัดกั้นไม่ให้เดินทางออกพ้นชานกรุงย่างกุ้ง ซูจี ยืนยันที่จะดำเนินการตามเจตนารมณ์ของตนเอง โดยใช้วิธีเผชิญหน้ากับตำรวจอย่างสงบอยู่ ณ จุดที่ถูกสกัดเป็นเวลานานเก้าวัน จนถึงวันที่ 2 กันยายน ตำรวจปราบจลาจลร่วม 200 นายพร้อมอาวุธครบมือจึงได้บังคับนำเธอกลับเข้าเมือง สองสัปดาห์ต่อมา ซูจี พร้อมคณะผู้นำพรรคฝ่ายค้านเดินทางไปที่สถานีรถไฟเพื่อซื้อตั๋วโดยสารออกจากเมืองย่างกุ้ง แต่รัฐบาลทหารได้ส่งหน่วยรักษาความปลอดภัยพิเศษไปควบคุมตัวเธอกลับบ้านพัก พร้อมทั้งวางกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมจุดต่างๆ บนถนนหน้าบ้านพักของ ซูจี และไม่ยอมให้ผู้ใดเข้าพบปะเยี่ยมเยียนเธอ

          วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2543 อองซานซูจี ถูกกักบริเวณโดยปราศจากข้อกล่าวหาและความผิดอีกเป็นครั้งที่สอง เป็นเวลานาน 18 เดือน

          เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2545 อองซานซูจี ได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณครั้งที่สอง

          วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2546 เกิดเหตุปะทะกันระหว่างมวลชนจัดตั้งของรัฐบาลกับกลุ่มผู้สนับสนุน อองซานซูจี ระหว่างที่เธอเดินทางไปพบปะกับประชาชนในเมืองเดพายิน ทางตอนเหนือของพม่า ทำให้ ซูจี ถูกสั่งกักบริเวณให้ใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านพักอีกเป็นครั้งที่สาม ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีเดียวกัน
อองซาน ซูจี

อองซานซูจี


          วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2550 คณะสงฆ์และประชาชนที่รวมตัวกันประท้วงรัฐบาลทหารพม่าเดินทางไปยังบ้านพักของ อองซานซูจี เธอได้ออกมาปรากฏตัวหน้าบ้านพักเป็นเวลา 15 นาที พร้อมกับพนมมือไหว้พระสงฆ์ที่กำลังให้พร การปรากฏตัวครั้งนี้นับเป็นการปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรกในรอบ 4 ปีของ ซูจี

          วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 นายจอห์น ยิตทอว์ ชาวอเมริกัน ได้ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบไปยังบ้านพักที่ อองซานซูจี ถูกกักบริเวณอยู่ เขาอาศัยอยู่กับ ซูจี เป็นเวลาสองคืน ก่อนจะว่ายน้ำกลับมายังอีกฝั่งและถูกทหารพม่าจับกุมตัวในที่สุด

          วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 อองซานซูจี ถูกจับกุมตัวและนำไปคุมขังในเรือนจำอินเส่ง ในข้อหาละเมิดคำสั่งกักบริเวณของรัฐบาลทหารพม่า

          วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ศาลพม่าอ่านคำพิพากษาว่า อองซานซูจี มีความผิดข้อหาละเมิดกฎหมายความมั่นคงภายในประเทศมีโทษจำคุก 3 ปี แต่รัฐบาลทหารพม่าให้ลดโทษลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 18 เดือน และไม่ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอินเส่ง แต่ให้กลับไปถูกควบคุมตัวในบ้านพักเช่นเดิม จากโทษครั้งนี้ทำให้ ซูจี อาจไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ด้านนายจอห์น ยิตทอว์ ถูกศาลสั่งจำคุกและใช้แรงงานเป็นเวลา 7 ปี ตามความผิด 3 ข้อหา ซึ่งประกอบด้วยความผิดข้อหาละเมิดความมั่นคง 3 ปี เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย 3 ปี และว่ายน้ำอย่างผิดกฎหมายในที่ห้ามว่ายเป็นเวลา 1 ปี


ขอขอบคุณข้อมูลจาก